พิธีแต่งงานแบบจีน

ครบเครื่องเรื่องงานหมั้นและงานแต่งงานแบบจีน

พิธีแต่งงานแบบจีน
ก่อนถึงวันงาน
มีรายละเอียดหลายอย่างที่ทางฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องจัดเตรียมโดยสิ่งที่หลายท่านได้กังวลที่สุด คือเรื่อง ขันหมากจีน
ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องจัดเตรียมของดังต่อไปนี้
  • ตะเกียงสีแดง เป็นสัญลักษณ์ ของการนำทางด้วยแสงสว่าง
  • ตู้เซฟสีแดง
  • เอี๊ยมแต่งงาน ปักอักษร “แป๊ะนี้ไห่เล่า” หมายถึง อยู่กินกันจนแก่เฒ่ากระเป๋าเสื้อบรรจุเมล็ดพันธุ์ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถั่วเขียว ถั่วดำ และสาคู หมายถึง ความเจริญงอกงาม 
  • เชือกแดงสำหรับผูกเอี๊ยม มีตัวหนังสือ ซังฮี้ (囍 )  สีแดงติดไว้ พร้อมกับมีแผ่นหัวใจสีแดงสำหรับติดเครื่องประดับทองและเครื่องเพชร
  • ต้นซุงเฉ้า หรือ ต้นเมียหลวงเข้าไป 1 คู่ สื่อความหมายว่า การมีเกียรติ
  • ปิ่นทองยู่อี่ หมายถึง สมปรารถนา และเหรียญกิมเล้ง เสริมความร่ำรวย
  • ของใช้สีแดง เพื่อความเป็นสิริมงคล ได้แก่ กะละมัง 2 ใบ ถังน้ำสีแดง 2 ใบ กระป๋องน้ำสีแดง 2 ใบ กระโถน 1 ใบ กระจก กรรไกร เข็ม ด้าย ไม้วัด
  • ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม 1 ผืน หมอน 1 ชุด (4-5 ใบ) ประกอบไปด้วยหมอนข้าง 1 คู่ หมอนหนุนใบยาว 1 ใบ
  • พัดสีแดง สำหรับใช้ตอนส่งตัว
  • หวี 4 อัน หมายถึง เงินทองไหลมาเทมา
  • กล้วย ทั้งเครือจำนวนหวีเป็นเลขคู่ ถ้าได้ลูกแฝดด้วยจะดีมาก พันก้านเครือและติดตัวหนังสือซังฮี้ (囍 ) สีแดงบนเครือกล้วย เมื่อจบพิธีทางฝ่ายชายจะเป็นผู้นำกลับ
  • ส้มเช้ง จำนวนคู่ติดตัวหนังสือซังฮี้ (囍 ) สีแดง
  • ชุดหมูตอบแทนฝ่ายชาย สำหรับชุดหัวใจหมูนั้นจะอยู่กับฝ่ายหญิง โดยชุดหัวใจดังกล่าวจะต้องยังมีปอดและตับอยู่ด้วยกันเมื่อเสร็จพิธีแล้วฝ่ายหญิงสามารถแบ่งชุดหัวใจให้ฝ่ายชายไปครึ่งหนึ่ง หรือ นำไปประกอบอาหารและรับประทานร่วมกัน สื่อถึงนัยยะว่า ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมีจิตใจร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องจัดเตรียมขันหมากจีนดังต่อไปนี้

“เถ้าแก่” คือ หัวใจสำคัญของพิธี ผู้นำขบวนขันหมาก ควรเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือ มีชีวิตครอบครัวที่ราบรื่น เพื่อความเป็นสิริมงคล  นอกจากนี้ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมสินสอดทองหมั้น พร้อมเครื่องขันหมากสำหรับเข้าพิธี

  • เงินสินสอดและทอง (เพ้งกิม)  จำนวนของเงินและสินสอด ขึ้นอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิงได้เรียกร้องต่อฝ่ายชาย โดยพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายหญิงเป็นผู้รับไว้ สำหรับทองจะประกอบด้วย 4 อย่างตามธรรมเนียม ได้แก่ สร้อยทอง กำไล เข็มขัดทอง ต่างหูทอง
  • ส้มเช้งเขียว เป็นผลไม้มงคลที่สื่อถึงโชคดี โดยส้มเช้งที่นำมาต้องมีตัวหนังสือซังฮี้ (囍 ) สีแดงติดไว้ทุกผล และต้องเตรียมมาเป็นจำนวนเลขคู่  ส่วนจำนวนของส้มนั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิงกำหนด
  • กล้วย หมายถึง การอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีลูกหลานมากมายมาช่วยสืบสกุล เน้นจำนวนหวีที่มีเลขคู่ เป็นกล้วยสีเขียวหรือกล้วยดิบพันก้านเครือด้วยกระดาษสีแดง ผลของกล้วยทุกลูกให้ติดตัวหนังสือซังฮี้ (囍 ) สีแดง   ให้ใช้กล้วยเครือใหญ่ที่มีสีเขียว หรือกล้วยดิบ โดยจำนวนหวีในเครือควรเป็นเลขคู่ กล้วยที่เตรียมมาให้ใช้กระดาษสีแดงพันที่ก้านเครือ ที่สำคัญหลังพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวต้องนำกล้วยเครือนี้กลับบ้านไปด้วย
  • ต้นอ้อย 1 คู่ สัญลักษณ์แห่งความหวานชื่น แต่บางความเชื่อก็จะมองว่า กว่าจะได้รับความหวานของอ้อยก็ต้องปอกเปลือกก่อน เสมือนชีวิตจะหวานชื่นก็ต้องผ่านความลำบาก  ดังนั้นก็อาจจะไม่ใช้อ้อยเข้าพิธีได้
  • ขนมหมั้นและขนมแต่งงาน  หรือเรียกว่า “ซีเส็กหม่วยเจี๊ยะ” (ขนม 4 สี) หรือ “โหงวเส็กทึ้ง”(ขนม 5 สี) ได้แก่ ขนมเปี๊ยะโรยงา ขนมถั่วตัด ขนมข้าวพองทุบ ขนมเหนียวเคลือบงา และขนมโก๋อ่อน สมัยก่อนขนมเหล่านี้จะถูกกำหนดโดยฝ่ายหญิง แต่ช่วงหลังมีร้านที่รับจัดขนมหมั้นและขนมแต่งงานแบบสำเร็จรูป
  • ขนมหมั้นและขนมแต่งงาน ในพิธีแต่งงานจีนจะใช้ขนม 4 สี ที่เรียกว่า “ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ” หรือขนม 5 สี ที่เรียกว่า “โหงวเส็กทึ้ง” ซึ่งได้แก่ ขนมเปี๊ยะโรยงา ขนมเหนียวเคลือบงา ขนมถั่วตัด ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน ตามหลักแล้วฝ่ายหญิงจะเป็นคนกำหนดชนิดและจำนวนขนม แต่ปัจจุบันก็มีร้านที่จัดชุดขนมหมั้นและขนมแต่งงานแบบสำเร็จรูป เพื่อให้เราเตรียมได้สะดวกขึ้น ครอบครัวฝ่ายหญิงบางครอบครัวอาจจะขอให้มีคุ้กกี้กระป๋อง หรือที่เรียกกันว่า “คุ้กกี้กล่องแดง” หาได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า เช่น   คุ้กกี้อาร์เซนอล  คุ้กกี้อิมพีเรียล เป็นต้น  เพิ่มเติมเพื่อมอบให้ญาติผู้ใหญ่หรือแขกที่มาร่วมงาน
  • ชุดหมูสด 3 ถาด ถาดแรก ประกอบด้วยหัวหมู 1 หัว เท้า 4 ข้าว และหาง 1 หาง ติดตัวหนังสือซังฮี้ (囍 ) สีแดง   ถาดที่สอง ขาหมูสด ติดตัวหนังสือซังฮี้ (囍 ) สีแดง   ถาดที่สาม เนื้อหมูส่วนท้องของแม่หมู (โต้วเตี้ยบะ) มีความเชื่อกันว่า เพื่ออวยพรให้ฝ่ายหญิงได้อุ้มทองและให้กำเนิดบุตร แต่ในบางงานหมั้น หากจัดในโรงแรมหรือสถานที่รับจัดงานมักไม่ค่อยได้นำมาเข้าร่วมในพิธีแล้ว
  • ของเซ่นไหว้บ้านเจ้าสาว เตรียมไว้ 2 ชุด สำหรับไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ ประกอบด้วย ของคาวหวาน ผลไม้ อาหาร 10 ชนิด เหล้า ธูปเทียน และดอกไม้ สำหรับของไหว้พิเศษที่จะนำเพิ่มเติมได้ คือ เส้นหมี่ หมายถึงชีวิตคู่อันยืนยาว
  • ของเซ่นไหว้บ้านเจ้าสาว ให้เตรียมของไหว้เป็น 2 ชุด สำหรับไหว้เจ้าที่เจ้าทาง และไหว้บรรพบุรุษ โดยชุดของเซ่นไหว้ประกอบด้วย ของคาว ขนม ผลไม้ อาหาร 10 อย่าง เหล้า ธูปเทียน ดอกไม้ และเส้นหมี่ ซึ่งเป็นของไหว้พิเศษ สื่อถึงชีวิตคู่อันยืนยาว

ธรรมเนียมการแบ่งเครื่องขันหมากที่นิยมแบ่งคนละครึ่งในบางรายการรวมถึงขนมที่ฝ่ายชายนำมาให้ฝ่ายหญิง  แต่ในส่วนของฝ่ายชายที่ต้องนำกลับไปด้วยทั้งหมด คือ เอี๊ยมแต่งงาน ชุดหัวใจหมู ถาดไข่และถาดส้มเช้งของฝ่ายหญิง

อ่านมาถึงตรงนี้เริ่มกังวลใจในการเตรียมของต่างๆเพื่อเข้าพิธีกันแล้วใช่หรือไม่ สำหรับขันหมากจีนแบบสมัยใหม่ ก็ได้ปรับให้เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย ตามรายละเอียด ดังต่อไปนี้

ฝ่ายเจ้าสาว

  • ตะเกียงแดง
  • เซฟแดง
  • พัดเจ้าสาว
  • พานส้มเช้ง
  • กล้วยหอม
  • ต้นซุงเฉ้า
ฝ่ายเจ้าบ่าว
  • พานสินสอดทองหมั้น
  • พานข้าวตอกดอกไม้
  • พานแหวนหมั้น
  • พานขนมเปี๊ยะ
  • พานส้มเช้ง
  • ซองประตูเงินประตูทอง

ขบวนขันหมากและพิธีสู่ขอ

  • เมื่อถึงฤกษ์ฝ่ายเจ้าบ่าวจะแห่ขบวนขันหมากไปรับตัวเจ้าสาว โดยมีญาติคอยต้อนรับด้วยน้ำชาและขนมอี๊ เถ้าแก่จะเริ่มการเจรจาผ่านประตูเงินประตูทอง โดยมีความเชื่อว่า คนที่เกิดปีชงกับเจ้าสาวห้ามอยู่ในงานด้วยในช่วงพิธีนี้ สำหรับเจ้าสาวจะรอเจ้าบ่าวอยู่ในห้องถือพัดสีแดง
  • เมื่อเข้ามาถึงในบ้านเจ้าสาวแล้ว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะไปไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้าเตาไฟที่อยู่ในครัว และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาวหากคุณปู่ คุณยา คุณตา คุณยาย ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องไหว้พร้อมบอกกล่าวกับท่านว่า เจ้าสาวกำลังจะไปสร้างครอบครัวใหม่แล้ว
  • จบพิธีดังกล่าว เจ้าบ่าวจะเข้ามารับตัวเจ้าสาว รับประทานขนมอี๊สีชมพูด้วยกัน เมื่อรับประทานเสร็จกราบลาคุณพ่อ คุณแม่ เพื่อไปขึ้นรถไปแต่งงาน ฝ่ายเจ้าสาวจะเตรียมข้าวของเครื่องใช้ สบู่ ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้าใหม่ ขั้นตอนนี้ญาติผู้ชายฝ่ายเจ้าสาว จะเป็นพี่ชายน้องชาย หรือหลานชาย เป็นผู้ถือตะเกียงจุดนำทาง ซึ่งมีความเชื่อกันว่า คู่บ่าวสาวจะได้ลูกชายสืบสกุล จะนั่งรถไปกับคู่บ่าวสาวก็ได้ 
  • พ่อเจ้าสาว หรือบางกรณีอาจจะเป็นผู้ใหญ่ที่ฝ่ายเจ้าสาวนับถือจูงขึ้นรถพร้อมกับพรมน้ำทับทิมและกล่าวอวยพร “ขอให้น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ได้เปลี่ยนคุณหนูให้เป็นคุณหญิง”
  • เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าว ญาติผู้ชายของฝ่ายเจ้าสาวที่เป็นผู้ถือตะเกียงนำตะเกียงไปในห้องนอน พร้อมจุดไฟไว้ และห้ามให้ไฟดับตลอด 3 คืน ปัจจุบันได้มีตะเกียงไฟฟ้าให้เลือกมากมายเพื่อลดอุบัติเหตุจากไฟไหม้  ญาติเจ้าบ่าวก็จะให้อั่งเปาแก่ญาติผู้ชายฝ่ายเจ้าสาวในทันที
  • เจ้าบ่าวเจ้าสาวทำพิธีไหว้ฟ้าดินเพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าทั้งคู่ได้แต่งงานกันแล้ว

ฤกษ์ปูเตียง

ผู้ที่ปูเตียงควรเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่กินกันมานานไม่มีปัญหาด้านครอบครัว แต่งงานถูกต้องตามประเพณี มีศีลธรรมเป็นที่ยอมรับแก่คนทั่วไป เมื่อปูเตียงเสรร็จจะนำส้มวางมุมเตียง อย่างละ 1 ผล  4 มุม และ 4 ผล วางไว้ในจานที่มีตัวหนังสือซังฮี้ (囍 ) สีแดงกลางเตียงพร้อมกับใบทับทิมยอดอ่อนสีแดงวางไว้จนถึงวันแต่งงาน    

พิธียกน้ำชา

  • พิธียกน้ำชาตามธรรมเนียมประเพณีจีน คู่สามีภรรยา จะทำการยกน้ำชาให้พ่อแม่ฝ่ายสามี และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายสามี โดยจะต้องคุกเข่าลงพร้อมกับรินชาใส่ถ้วยวางบนถาดส่งให้
  • เมื่อผู้ใหญ่ดื่มอวยพรและให้เงินทอง เหมือนเป็นทุนตั้งตัว ในขั้นตอนนี้คู่บ่าวสาวจะมอบของขวัญเป็นสิ่งตอบแทน โดยจะเป็นเครื่องแก้ว ผ้าขนหนู หรือสิ่งของต่างๆที่ทางคู่บ่าวสาวได้เตรียมไว้ เรียกว่า “ของรับไหว้”
  • เมื่อเสร็จพิธีคู่บ่าวสาวจะรับประทานขนมอี๊ หรือขนมบัวลอยอีกครั้ง เพื่อให้ความรักหวานชื่นเหมือนรสชาติของขนมอี๊ โดยจะใส่ไข่ลงไปด้วย มีความเชื่อว่าคู่บ่าวสาวจะต้องรับประทานไข่ทั้งลูกในคำเดียวเพื่อจะมีลูกชายหัวปี

รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับพิธี

  • การยกน้ำชาให้คุณพ่อคุณแม่เจ้าบ่าว ยกพร้อมกัน จับถาด 2 มือและเรียก อากงอาม่า ดื่มน้ำชา หรือ ชั่งเต้
  • การยกน้ำชาให้ญาติเจ้าบ่าวที่แต่งงานแล้ว ยกน้ำชาพร้อมกัน
  • การยกน้ำชาให้น้องเจ้าบ่าว ยกน้ำชา 2 ถ้วย เชื่อกันว่าจะมีคู่และเป็นการรับตัวเจ้าสาวเข้าบ้าน

คู่รักใหม่กลับไปเยี่ยมบ้าน

หลังจากแต่งงาน 3 วัน หรือ 7 วัน หรือ 15 วัน ขึ้นอยู่กับความเชื่อหรือฤกษ์ที่ได้รับมา ญาติผู้ชายของเจ้าสาวจะมารับตัวเจ้าสาวกลับไปเยี่ยมบ้าน เจ้าสาวจะต้องเตรียมส้ม 12 ผล ถือกลับไปบ้าน  เมื่อถึงบ้านฝ่ายหญิง คู่แต่งงานนจะต้องทำพิธียกน้ำชาให้กับคุณพ่อ คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง และ ท่านก็จะได้ให้พรและของขวัญหรือทรัพย์สินให้คู่แต่งงานนำไปตั้งตัว

ในปัจจุบัน หลายครอบครับได้ปรับพิธีตามความเหมาะสมโดยจะรวมการยกน้ำชาของคุณพ่อ คุณแม่ ญาติฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในวันเดียวกับพิธียกน้ำชา เพื่อให้กระชับขึ้น

เมื่อทำพิธีเสร็จจะมีการจัดเลี้ยงต้อนรับลูกเขย และนำส้มที่ฝ่ายหญิงกลับไปวางหัวนอน ถือว่าจบพิธี สำหรับส้มที่ได้กลับบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะเป็นผู้รับประทานเท่านั้นเพื่อถือเคล็ดให้มีลูกหลานเยอะ

หากมีแม่สื่อคู่บ่าวสาว จะต้องตอบแทนแม่สื่อตามธรรมเนียม ฝ่ายชายต้องทำหน้าที่ตอบแทนแม่สื่อด้วยขาหมู และให้เงินมูลค่า 5% ของสินสอดที่ให้ฝ่ายหญิง แต่ในปัจจุบันก็ได้ปรับให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หรือความตั้งใจที่ฝ่ายชายยินดีจะมอบให้

 

ครบเครื่องเรื่องพิธีจีน - พิธีแต่งงานแบบจีน